รายการ ACT Now

ACT Now EP.1 ทางออกคดีบอส

โดย ACT โพสเมื่อ Aug 14,2020



ACT Now Ep.1 ทางออกคดีบอส โดย ดร. มานะ นิมิตรมงคล
เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)

“การส่งฟ้องใหม่ไม่สามารถลบล้างความผิดเก่าของผู้ปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับคดีจนเกิดความเสื่อมเสียที่น่าอดสูครั้งนี้ได้”

เหตุการณ์นายบอสขับรถชนตำรวจเสียชีวิตที่เกิดขึ้นมา 7-8 ปีแล้ว กลับทำให้คนตั้งข้อสงสัยมากขึ้นว่า อุตส่าห์ให้บทบาทมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น มีบุคลากรมากขึ้น แต่ทำไมวันนี้กลับทำเรื่องที่มีเงื่อนงำมากมาย ทำให้ประชาชนเกิดข้อสงสัย

ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเพิ่งแก้ไขให้ความสำคัญ ให้อำนาจ ให้บทบาทกับสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญครั้งแรกของประเทศไทย สาเหตุก็คือว่าต้องการทำให้องค์กรแห่งนี้ เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง เพื่อปกป้องคนไทย ปกป้องราชการ ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเราทุกคน แต่ว่าจิตสำนึกของคนที่ลุแก่อำนาจ ปฏิบัติหน้าที่ตังเองไปโดยไม่รับผิดชอบต่อสังคม ทำให้สังคมยอมรับไม่ได้ ประชาชนฝากความหวังไว้ที่อัยการ แต่ไม่ได้ฝากไว้กับที่ตัวบุคคล นาย ก. นาย ข. นายสมชาย นายบุญมี คนใดคนหนึ่ง แต่ฝากความหวังไว้กับที่สถาบันอัยการ นั่นแปลว่าในระบบของอัยการด้วยกันเอง

จะต้องมีกลไกการตรวจสอบว่า ใครก็แล้วแต่ที่มาถือสำนวนคดีนี้ คนๆ นั้นจะต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา หากมีใครคนใดคนหนึ่งจงใจบิดเบือนบิดเบี้ยว ระบบจะเข้ามาตรวจสอบให้ถูกต้อง แล้วจะทำอย่างไรเราถึงจะมั่นใจได้

หนึ่ง ก็คือตัวระบบการตรวจสอบถ่วงดุลของอัยการต้องมีความชัดเจน ขณะเดียวกันข้อมูลที่เกี่ยวกับคดีหลายๆ อย่างควรจะต้องถูกเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับรู้ความคืบหน้าพอสมควร ที่พูดอย่างนี้ เราลองมาดูนะครับ เราสงสัยกันว่า เรื่องนี้ตัวจำเลยถูกถอนหมายจับไปแล้วใช่หรือไม่ คนไทยก็ไม่รู้ จนในที่สุดล่าสุดอาจารย์วิชา มหาคุณ ที่เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบที่นายกฯ แต่งตั้ง ต้องไปตรวจสอบมาเองถึงจะรู้ว่าหมายจับอันนี้ยังคงอยู่ แต่แค่นี้ก็ยังไม่พอ คนก็ยังตั้งคำถามในสื่อมวลชนมากมายว่า แล้วหมายจับอินเตอร์โพลของตำรวจสากลยังอยู่ไหม เราพูดกันว่าถูกถอนไปแล้ว เขาถึงมาประกาศว่าหมายจับอินเตอร์โพลก็ยังอยู่

มีอัยการอาวุโสท่านได้โทรฯ มาอธิบายให้ผมฟังว่าในช่วงที่ผ่านมา เราก็สงสัยว่าคำสั่งฟ้อง คำสั่งไม่ฟ้อง อะไรเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เราก็เห็นมีการโต้แย้งกันอยู่ในหน้าหนังสือพิมพ์ตามสื่อทีวี เป็นอย่างนี้ครับ ตามกฎหมายฟ้องหรือไม่ฟ้องเป็นเรื่องกระบวนตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ในการทำงานของอัยการเขาจะมีออกระเบียบเรื่องของการสั่งคดี ซึ่งเป็นกฎหมายประมาณปี พ.ศ. 2542 เท่าที่ผมจำได้ แน่นอนว่าเวลาที่อัยการจะสั่งฟ้อง จากเดิมว่าไม่มีข้อมูลไม่มีหลักฐาน พอมีข้อมูลใหม่เขาจะสั่งฟ้อง จะต้องเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของอัยการฉบับนี้ แต่พอจะเปลี่ยนคดีที่สั่งฟ้องไว้แล้วมาเป็นสั่งไม่ฟ้อง เขาก็อ้างว่ามีอยู่ในระเบียบของอัยการนี้เช่นเดียวกัน แต่ในความเป็นจริงเขาบอกว่าระเบียบข้อนี้ไม่มีเขียนไว้ใน ป. วิอาญามีเขียนเฉพาะกรณีแรก คือ จะไม่ฟ้อง แต่ ให้เป็นฟ้อง แต่จากฟ้องแล้ว เป็น ไม่ฟ้องไม่มีใน ป.วิ อาญา เพราะฉะนั้นระเบียบตัวนี้ถือว่าขัดต่อกฎหมาย ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงอัยการจะต้องแถลงให้ประชาชนฟังนะ

ทำให้เราเห็นว่า ตั้งแต่วันแรกที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น เรื่องธรรมดามากเลยในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่ในแต่วันมีอุบัติเหตุ มีคนขับรถชนคน จะบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็แล้วแต่ แต่พอมาครั้งนี้ กลายเป็นเรื่องของอภิสิทธิ์ชน เปลี่ยนตัวผู้ต้องหา มีการหลีกเลี่ยง การขอความเป็นธรรม ขอเลื่อนนัดผลัดฟ้อง มีการแก้ไขคำสั่ง มีการเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงหลายๆ อย่าง ง่ายที่สุดเลยที่ทุกคนข้องใจก็คือ ในเรื่องของความเร็วในการขับรถที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ ตรงนี้เป็นความจริงทางวิทยาศาสตร์ที่น่าจะพิสูจน์กันง่ายๆ เอาตัวเลขใกล้เคียงก็ได้ ไม่ต้องเป๊ะๆ แต่ว่าเราก็ยังทำกันไม่ได้ กลับไปกลับมา ว่าความเร็วอยู่ที่ 170 กว่า หรือ 76-77 กิโลเมตรต่อชั่วโมงกันแน่

เอาอย่างนี้ดีไหม เอาง่ายๆ เลย ไม่ต้องคำนวณอะไรกันมากมาย เราเคยเห็นคดี ลัก วิ่ง ชิง ปล้น คดีข่มขืน คดีฆ่ากันตาย ตำรวจไปจำลองเหตุการณ์ เอาคืนไหนสักคืนแล้วก็เคลียร์พื้นที่เลย เอารถยี่ห้อเดียวกันมาวิ่ง แล้วก็ใช้กล้องวงจรปิดตั้งที่เดิมเลย ครั้งแรกก็ให้รถวิ่งสปีด 76 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกรอบหนึ่งก็ให้รถวิ่งความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แล้วให้กล้องจับ เรามาดูสิว่ากล้องจะจับได้เป็นกี่เฟรม ความเร็วจะแตกต่างอย่างที่เราเห็นภาพเหตุการณ์เมื่อ 7 ปีที่แล้วไหม แล้วดูสิว่าการที่ลากรถไปได้ไกลขนาดนั้น ความเร็วที่เป็นจริงเท่าไรกันแน่ ผมเชื่อว่าวิธีการง่ายๆ อย่างนี้ ประชาชนคงจะติดตามดู เรามาไลฟ์สดดูกันเลยก็ได้ ประชาชนตื่นเต้นดี.